BU Alumni
JOYTIME สนุกกับสิ่งที่เรียนรู้ พี่นิตา-นิเทศ ม.กรุงเทพ แบ่งปันความสุขในการเรียนรู้

Jun 04, 2024

JOYTIME สนุกกับสิ่งที่เรียนรู้ พี่นิตา-นิเทศ ม.กรุงเทพ แบ่งปันความสุขในการเรียนรู้

สนุกกับการเรียน สนุกกับการเล่น กล้าลองทำ ได้เรียนรู้มากกว่าที่คิด “จริง ๆ มีหลายตำแหน่งที่อยากทำมาก แต่สุดท้ายก็เลือก Creative เพราะดูเหมาะมากที่สุด” นิตา-ศุภนิตา คำรังษี รุ่นพี่นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้เข้าร่วมโครงการ RedDot BU บอกกับเรา

         RedDot BU คือโครงการฝึกปฏิบัติการผลิตสื่อออนไลน์เผยแพร่หลากหลายแพลตฟอร์มของนักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นิตาได้สมัครเข้าร่วมโครงการ ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานเบื้องหลังอย่างเต็มที่ พวกเราได้มีโอกาสพูดคุยกับนิตาถึงเรื่องราวชีวิต การเติบโต การเรียน และการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ปล่อยใจจอย ๆ ในการอ่าน ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกันครับ

ก่อนจะมาเป็นนิตา เด็กนิเทศ ม.กรุงเทพ

         “ตอนเด็ก ๆ ช่วงม.ปลายรู้สึกทำอะไรไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ป๊ากับแม่ก็เลี้ยงตามใจมาก จนมีช่วงที่นิสัยไม่ดีอยู่ช่วงหนึ่งเหมือนกัน” นิตาเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงมัธยมตอนปลายเป็นช่วงที่ควรจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดเพื่อต่อยอดในการเลือกเรียนต่อในคณะที่ชอบ มหาวิทยาลัยที่ใช่ แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีความมั่นใจที่จะทำอะไรเลย

         เธอมีพี่น้องรวมทั้งหมด 3 คน มีน้องชายและน้องสาว ส่วนนิตาเป็นลูกสาวคนโตของบ้านหลังนี้ ช่วงที่ป๊ากับแม่ตามใจมากนั้นเป็นช่วงที่ยังไม่มีน้อง ทำให้บางอย่างก็มีความเอาแต่ใจบ้าง แต่พอเมื่อเติบโตขึ้น ก็ดีขึ้นมาเรื่อย ๆ ควบคุมตนเองได้มากขึ้น

ทำไมถึงต้องนิเทศม.กรุงเทพ

         นิตาได้เล่าเรื่องราวของเธอว่า จริง ๆ อยากเรียนบริหารธุรกิจ อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง เช่น กระเป๋าผ้าสะพายข้าง มาจาก Passion ของนิตาเอง และก่อนจะมานิเทศในช่วงม.ต้นอยากเป็นนักจิตวิทยา ให้คำปรึกษาคน แต่ช่วงม.ปลายที่ได้ทำกิจกรรมของโรงเรียน เริ่มรู้สึกว่าด้านสายสุขภาพไม่เหมาะกับเราแล้ว เลยเลือกเรียนนิเทศดีกว่า เพราะว่าช่วงม.4 ได้เข้าร่วม Open House ของ ม.กรุงเทพ รู้สึกชอบคณะนิเทศ

         อีกเหตุผลของนิตาที่เลือกเรียนนิเทศ ม.กรุงเทพเพราะในวิชาของคณะนิเทศฯ มีการเรียนเกี่ยวกับการตลาดเบื้องต้น การขายของ การสอนวางแผนการตลาด ทำให้นิตาสนุกสนานกับสิ่งที่เรียนร่วมกับ Passion ที่มีมาแต่ตอนต้น ทำให้มีความสุขและสนุกในการเรียนเป็นอย่างมาก

         เมื่อได้เริ่มเรียนจริงจังเกี่ยวกับวิชาของนิเทศศาสตร์ รู้สึกชอบมาก แต่ตอนแรกรู้สึกไม่ชอบทฤษฎี แต่ก็เข้าใจว่าเรื่องธรรมดา เมื่อผ่านไปสักพักรู้สึกสมองแล่นกับงานที่อาจารย์สั่งมาก ไม่เหมือนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เหมือนตอนอยู่ม.ปลาย

กิจกรรมของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม

         “ตอนนี้ทำ RedDot BU รายการพามาดูว์อยู่ค่ะ” RedDot BU เป็นหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่ผลิตโดยนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 รายการ แต่รายการที่นิตากำลังทำอยู่ในปัจจุบันคือรายการ ‘พามาดูว์’ เป็นรายการพาไปดูสถานที่ในมหาวิทยาลัย เข้าร่วมชมบรรยากาศกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น

         ก่อนนิตาจะเข้าร่วม RedDot BU นั้น นิตาได้ศึกษาจากเพื่อนที่รู้จักกันในเรื่องของตำแหน่งงานและข้อมูลของตำแหน่งที่สนใจคือ Creative นั่นเอง หลังจากนั้นก็ได้รับโอกาสจากรุ่นพี่เชิญชวนเข้าร่วม จึงลองยื่น Resume และ Portfolio ส่งไป ซึ่งในช่วงชั้นปีที่ 1 และ 2 ต้น ๆ ไม่ได้ร่วมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยเลย แต่พอมีกิจกรรมจากการเข้าร่วมช่วงมัธยมตอนปลาย จึงแนบใส่ในผลงานเพื่อส่งให้กับทาง RedDot BU เมื่อถึงเวลาเรียกสัมภาษณ์ก็ไม่ได้รู้สึกยากเลย เพราะคำถามเป็นคำถามที่รู้สึกผ่อนคลายมาก ซึ่งเราก็ได้ทำการบ้านมาดีว่า มีรายการอะไรบ้าง เขาก็จะถามว่าอยากทำรายการไหน นิตาจึงนำเสนอไปในรูปแบบของตนเอง

ทำไมต้อง RedDot BU

         นิตาได้เล่าให้ฟังว่า จริง ๆ รู้จักชมรมของมหาวิทยาลัยอยู่ไม่กี่ชมรม เผอิญได้รู้จัก RedDot BU ยิ่งมีเพื่อนอยู่ในนั้นด้วย มีสังคมที่ดี และได้ใช้วิชาจากการเรียนบรอดแคสฯ มาใช้ในการทำงานจริง ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีการคิดงาน วางแผน หรือความรู้เรื่องอุปกรณ์เบื้องต้นเข้ามาช่วยในงานให้คล่องมากขึ้น

         ด้วยความที่ได้ทำหน้าที่ครีเอทีฟของรายการ ‘พามาดูว์’ หน้าที่ของครีเอทีฟคือ เขียนสคริปต์ให้กับพิธีกรเพื่อนำเสนอเนื้อหาของเรื่องที่จะสื่อสาร และต้องคิดคอนเทนต์ในแต่ละตอน Episode ถ้าต้องมีการสัมภาษณ์คนอื่น นิตาจะเป็นคนติดต่อประสานไปยังผู้ให้สัมภาษณ์เอง

         ในช่วงแรกของการเริ่มทำงานกับ RedDot BU นิตาอยากลงตำแหน่ง ‘แอดมิน (Admin)’ อีกด้วย แต่รุ่นพี่แนะนำให้ทำครีเอทีฟไปก่อน จะง่ายและสะดวกกับมือใหม่ที่ลงมือในการทำงาน

ปัญหาคือโอกาสในการเรียนรู้

         การทำงานกับคนหมู่มาก ไม่ว่าจะงานกลุ่ม งานชมรม มักมีปัญหากันอยู่แล้ว แต่ที่ RedDot BU ยังไม่มีปัญหาที่พบเจอที่รู้สึกว่ากระทบต่องานขนาดนั้น แต่ในบางครั้งก็จะมีเรื่องความเห็นไม่ตรงกัน เราก็ต้องปรับตัวมากขึ้น ฟังความคิดเห็นคนอื่นมากขึ้น คุยกับคนมากขึ้น การใช้คำพูดให้เป็นนั้นสำคัญมาก

         ส่วนเรื่องการเรียนยังไม่กระทบกับงานในชมรม เพราะมีการแบ่งจัดตารางเวลาที่ดีพอสมควร สมมติงานต้องส่งในอีก 2 วันข้างหน้า ก็จะทำงานก่อน แล้วค่อยเคลียร์งานส่วนตัวของวิชาในมหาวิทยาลัย ทำให้มีเวลามากยิ่งขึ้นในการทำงานของตัวเอง

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานจริงระหว่างเรียน

         สิ่งที่รู้สึกได้เลยว่าก้าวกระโดดเป็นอย่างมากเลยคือ การเข้ากับผู้คนและการใช้คำพูดให้เป็น อย่างที่บอกไปว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าพูดกับคนอื่นที่ไม่รู้จัก แต่พอได้ทำงานก็ทำให้กล้าพูดมากขึ้น ใช้คำพูดกับคนเป็นมากขึ้น ฟังมากกว่าพูด แล้วนิตาเองพบเจอปัญหามาก่อนหน้านี้ว่า เมื่อตัวเองออกความคิดเห็น มักไม่มีใครฟัง แต่พอเข้าร่วมชมรม มีคนฟังมากขึ้น ทำให้กรอบที่เราคิดว่าไม่มีคนฟังเราได้หายไปทันที

         “อย่างล่าสุด เรียนวิชาที่จะต้องทำรายการและต้องทำเบรกดาวน์ชีทออกมา เพื่อนในกลุ่มก็งงว่าคืออะไร แต่เราบอกเพื่อนได้ว่ามันคืออะไร”

         นิตาได้กล่าวไว้ว่า อีกหนึ่งสิ่งที่รู้สึกได้รับเป็นอย่างมากขึ้นคือ ได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริงและนำไปใช้ได้ การทำงานในชมรมได้เรียนรู้จากการทำงานจริงและนำไปใช้กับวิชาของคณะสาขาที่เรียนอยู่ได้ ซึ่งการเรียนรู้ล่วงหน้าจะได้เปรียบเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่คนอื่นไม่รู้ แต่เรารู้ก่อนเพราะได้ลงมือทำมาแล้ว

แชร์เทคนิคการทำงานครีเอทีฟให้สร้างสรรค์

         “ดูกระแสช่วงนั้นเยอะ ๆ สวมบทบาทตัวเองเป็นพิธีกร เพื่อสื่อสารกับคนดูให้ดีที่สุด”

         ด้วยความที่นิตาไม่ชอบการทำงานอยู่หน้ากล้อง แต่ช่วงที่ทำหน้าที่ของการทำครีเอทีฟที่ต้องมีการเขียนสคริปต์ นิตาต้องสวมบทบาทเป็นพิธีกรเอง เพื่อจะได้รู้ว่า ช่วงไหนควรพูดอย่างไร เนื้อหา คอนเทนต์ และคำพูดจะต้องดำเนินอย่างไร เมื่อเขียนสคริปต์เสร็จต้องส่งให้คนในทีม Proof ว่าผ่านหรือยัง หากยังไม่ผ่าน ทุกคนยังไม่โอเค ก็นำกลับมาแก้ไขตามคำแก้ไขของทุกคนเพื่อการทำงานที่ราบรื่นและดูเป็นผู้เชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น

         นิตาบอกสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ การคุยกับคนในทีมให้มาก ๆ เพื่อความเห็นที่ตรงกัน ข้อผิดพลาดของการทำงานจะน้อยลงและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

เชิญชวนเด็ก BU เข้าร่วม RedDot และฝากช่องทางการติดตาม

         “ช่องการติดตามของนิตา IG: S.krs.17 และอยากจะเชิญชวนทุกคนเข้าร่วม RedDot BU กันเยอะ ๆ ปีการศึกษาหน้าเราก็อาจจะมีรับสมัครเพิ่มต้องติดตามช่องทาง IG: Reddot_BU ส่วนในยูทูบก็จะเป็น RedDot BU ก็สามารถไปติดตามได้นะคะ มีหลายรายการอยู่ในนั้นประมาณ 2-3 รายการ ไปเลือกดูว่าเราชอบแบบไหน”

         รายการใน RedDot BU เช่น “BU กุ๊กกู๋” เป็นการเล่าเรื่องผีแบบไลฟ์สด แล้วอีกรายการชื่อ “Secret Love” เป็นรายการพูดเกี่ยวกับเรื่องความรักเชิญนักศึกษาบุคลากรในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาพูดถึงเรื่องความรัก แล้วก็มีรายการใหม่เร็ว ๆ นี้ เป็นเกี่ยวกับคำศัพท์แบบคำศัพท์ LGBTQIA+ มาทายกัน แล้วก็มีรายการของนิตา ‘พามาดูว์’ ที่จะพาทุกคนไปดูทุกอย่างในมหาวิทยาลัย ชมบรรยากาศกิจกรรมดี ๆ ภายในม.กรุงเทพ หรือพามาดูเรื่องบางเรื่องที่คุณอาจจะไม่เคยรู้ก็เป็นได้

         ประสบการณ์ของ นิตา-ศุภนิตา คำรังษี รุ่นพี่นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ให้ข้อคิดอย่างมากมายในเรื่องของการทำงาน เรื่องประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำงานจริงในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         นิตายังฝากไว้ “ก็เลือกในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองทำได้ เพราะฉะนั้นเริ่มจากตำแหน่งเล็ก ๆ แค่ทำ PortFolio และ Resume ให้ดี และตอบคำถามอาจารย์ตอนสัมภาษณ์ให้มั่นใจหนักแน่นว่าเราอยากทำอะไร นี่แหละค่ะเทคนิค” เทคนิคนี้นำไปใช้ได้กับทุกงาน และพกความเชื่อมั่นในตัวเองไปด้วย อย่างน้อยสิ่งที่ได้เรียนรู้คือประสบการณ์ใหม่ที่นำไปใช้ได้ทุกโอกาสอย่างแน่นอน ทำทุกช่วงเวลาในชีวิตให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ สร้าง Moment of Joy เรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดด้วยกันครับ

สมัครเป็นสมาชิกของครอบครัวเครือข่ายศิษย์เก่า

เพื่อไม่พลาดทุกข่าวสาร กิจกรรม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวบียูที่เชื่อมต่อกันด้วยมิตรภาพ ความรู้ และโอกาสใหม่ ๆ
ในชีวิตและการทำงาน #JOYTIME เชื่อมจักรวาล BU

สมัครสมาชิก