BU Alumni
สาวไทยเชื้อสายจีนพี่ฝง-วศินี แซ่ล่อ รุ่นพี่ BUCI ม.กรุงเทพ คว้ารางวัลเกียรติยศเวทีระดับโลก

Nov 16, 2021

สาวไทยเชื้อสายจีนพี่ฝง-วศินี แซ่ล่อ รุ่นพี่ BUCI ม.กรุงเทพ คว้ารางวัลเกียรติยศเวทีระดับโลก

แม้อาจพูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด แต่จิตสำนึกภายในก็มีความเป็นไทยเต็มเปี่ยม เช่นเดียวกัน ความเป็นจีนก็ยังคงไหลท่วมท้นอยู่ในกระแสเลือดจนสามารถนำความรู้เกี่ยวกับจีนไปคว้าชัยระดับโลกมาได้

          “ถึงแม้จะพูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด แต่ฝงก็รู้ภาษาจีน ได้วัฒนธรรมจีน และยังฟังภาษาถิ่นอื่น ๆ ได้ เช่น ภาษาอาข่า ลาหู่ ทำให้ฝงไม่สนใจที่อาจโดนบางคนบูลลี่”

          ขณะเล่าให้เราฟัง ฝง-วศินี แซ่ล่อ รุ่นพี่วิทยาลัยนานาชาติจีน (วนจ.) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีสายตาเป็นประกาย ฉายชัดถึงความภาคภูมิใจในชาติกำเนิดของตนอย่างจริงใจ สาวน้อยที่อาจพูดไทยไม่ค่อยชัดผู้นี้ ได้นำพาความรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีนไปแข่งขันบนเวทีระดับประเทศ ไต่ไปถึงระดับโลก จนคว้าชัยมาแล้ว

          เธอเคยคว้ารางวัลรางวัลชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์ภาษาจีนระดับประเทศจากงาน “สะพานสู่ภาษาจีน” ซึ่งจัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศประจำกรุงเทพฯ เอาชนะผู้เข้าแข่งขันกว่า 140 คนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

          ทำให้เธอได้เป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากประเทศไทย ไปชิงชัยกับเยาวชนชาติอื่นอีก 125 คน จาก 100 ประเทศทั่วโลก บนเวทีประกวดภาษาจีนระดับนานาชาติ The 20th “Chinese Bridge” Chinese Proficiency Competition for Foreign College Students ซึ่งจัดโดยศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (Center for Language Education and Cooperation) และสามารถเข้าสู่รอบ 30 คนสุดท้าย โดยอยู่ในกลุ่มที่ทำคะแนนได้เป็นลำดับ 3 จึงได้รับรางวัลที่ 3 ของโลกมาครองร่วมกับเพื่อนจากชาติอื่นที่มีคะแนนเท่ากัน ลบคำสบประมาทได้อย่างสะอาดหมดจด

สาวไทยเชื้อสายจีน ผู้ไม่เคยลืมชาติพันธุ์ของตัวเอง

          ฝงเกิดและโตที่เมืองไทย บ้านเกิดอยู่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยรุ่นปู่รุ่นย่าเป็นคนจีนที่อพยพมา คุณพ่อกับคุณแม่ก็เป็นคนจีนที่เกิดและโตที่ไทยแล้วแต่งงานกัน บ้านเราเป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่ชาย 4 คน พี่สาว 1 คน ซึ่งพี่ชาย 2 คนแต่งงานแล้ว ทำให้มีหลานสาวอีก 6 คน ทุกคนอยู่ในละแวกเดียวกันหมด ปกติที่บ้านจะพูดภาษาไทยและภาษาจีนยุนนาน

          ในฐานะที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ทำให้ฝงสนใจความเป็นจีน แต่หลัก ๆ คือ มักได้ยินคุณพ่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับจีนให้ฟัง เลยรู้สึกว่าชอบวัฒนธรรมจีน ทำให้อยากเรียนรู้ลึกซึ้งเข้าไปอีก ที่รู้สึกประทับใจมากก็คือหลักคำสอนจากลัทธิขงจื้อซึ่งสอนให้เรากตัญญูรู้คุณและเคารพผู้ใหญ่ อีกอย่างที่ชอบคือเรื่องวัฒนธรรมจีน ฝงชอบไปศึกษาหาความรู้ด้านประวัติศาสตร์จีนจากในวรรณคดีและประวัติศาสตร์จีน อย่างเช่นบทกลอนจีนต่าง ๆ ที่แม้จะเป็นคำกลอนแค่สั้น ๆ แต่กลับมีความหมายลึกซึ้ง

นำคลังความรู้ไปสู่เวทีการแข่งขัน

          การแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งความรู้เกี่ยวกับจีน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ 1. ความรู้ทางด้านภาษา 2. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศจีน 3. ความสามารถพิเศษ เป็นเวทีที่เปิดให้คนที่สนใจศึกษาหรือคนที่ชอบภาษาจีนมาโชว์ศักยภาพด้านภาษาจีนกัน ในส่วนของการทดสอบด้านความรู้ เขาจะมีคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความรู้เกี่ยวกับจีนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน หรือแม้แต่เรื่องภูมิศาสตร์และอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เขาจะมีรูปรูปหนึ่งให้เราดู จากนั้นให้เราพูดความในใจหรืออธิบายเกี่ยวกับรูปนั้นเป็นภาษาจีน ดังนั้นเราต้องมีทั้งความรู้รอบตัวและทักษะการพูดภาษาจีน ส่วนความสามารถพิเศษ ในรอบระดับประเทศ ฝงโชว์การพูดภาษาจีนแบบเร็ว ๆ คล้ายการพูดเร็ว ๆ ที่คนไทยนิยมเล่นกัน เช่น เช้าฟาดผัดฟัก เย็นฟาดฟักผัด นั่นแหละค่ะ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวสุนทรพจน์ ส่วนความสามารถพิเศษในรอบนานาชาติ ฝงแสดงการเต้นรำมองโกลซึ่งเป็นอีกชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ในจีน

สุนทรพจน์ภาษาจีน ด่านสุดท้าทาย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยความสามารถและความเป็นตัวของตัวเอง

          ในการแข่งขันระดับประเทศ รอบชิงชนะเลิศเขามีหัวข้อมาให้ล่วงหน้ารวม 10 หัวข้อ โดยในวันแข่งให้จับสลากมา 1 หัวข้อ แล้วพูดสดเลย คนละประมาณ 2 นาทีครึ่ง นั่นหมายความว่า เราจะรู้หัวข้อล่วงหน้า แต่ไม่รู้ว่าจะได้พูดหัวข้ออะไร ดังนั้นจึงต้องเตรียมไปทั้ง 10 หัวข้อเพื่อความพร้อม ตอนนั้นได้หัวข้อการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากกล่าวสุนทรพจน์เสร็จ ก็จะมีคำถามให้ตอบซึ่งฝงทำคะแนนได้สูงที่สุดใน 100 กว่าคนที่เข้าร่วมแข่งขัน นอกจากนี้ที่ชนะมาได้น่าจะเพราะการพูดที่เป็นธรรมชาติ ไม่เกร็งจนเกินไป ทำให้กรรมการรู้สึกฟังสบาย

          แต่ในรอบระดับนานาชาติมีความแตกต่าง โดยในรอบแรกให้เราถ่าย Vlog แนะนำตัว เพื่อให้กรรมการประทับใจหรือจำเราได้ ซึ่งของคนอื่นมักจะเป็นการโชว์ความสามารถพิเศษ แต่ของฝงค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่นเพราะเน้นเกี่ยวกับชนเผ่าที่เกี่ยวข้องกับชุมชนของตัวเอง อย่างแรกเลยคือแนะนำชุดคนเผ่า เพราะแถวบ้านมีชนเผ่าต่าง ๆ มากมาย มีทั้งจีน อาข่า ลาหู่ ลีซู และไทยใหญ่ต่าง ๆ โดยฝงเลือกมา 3 เผ่า ได้แก่ ลาหู่ อาข่า และลีซู แล้วก็ถ่ายชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านของตัวเอง แนะนำคุณพ่อคุณแม่ และการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ที่บ้านก็จะมีนา มีสวน ส่วนคุณพ่อเลี้ยงหมู คุณแม่เลี้ยงไก่ พวกเราจะกินข้าวร่วมกัน เป็นการสื่อให้เขารู้ว่า เรามีครอบครัวที่อบอุ่น

          ส่วนรอบชิงชนะเลิศ มีการให้ทำข้อสอบซึ่งคะแนนเต็ม 80 ฝงทำได้ 72 คะแนน จึงได้ผ่านเข้าไปสู่รอบ 30 คนสุดท้าย พอเข้ารอบ 30 คนก็จะต้องเตรียมตัวเพื่อถ่ายรายการสำหรับออกอากาศ มีเวลาเตรียมอยู่ประมาณอาทิตย์เดียว เขาก็จะให้เตรียมเนื้อหาความรู้ด้านภาษาจีน รอบนี้แบ่งการแข่งเป็น 2 วัน ต้องตอบคำถามทั้งหมด 20 ข้อ โดยเขามีรูปให้เราดู แล้วให้พูดเกี่ยวกับรูปนั้น ด้วยความที่ตื่นเต้นเลยมีติดขัดบ้าง ทำให้ได้คะแนนอยู่ในกลุ่มอันดับที่ 3

          สาเหตุที่ไม่ผ่านเข้ารอบ 15 คนสุดท้าย เนื่องจากฝงมีคะแนนเท่ากับผู้เข้าแข่งขันจากประเทศทาจิกิสถาน เลยต้องต่อเวลาการแข่งขัน ซึ่งในรอบนี้ต้องพูดภาษาจีนเกี่ยวกับสัตว์ แต่เราไม่รู้ว่าสามารถเสิร์ชหาข้อมูลในเน็ตได้ด้วย อีกอย่างคือตอนพูดอาจจะตื่นเต้นมากไป ทำให้พูดออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถึงจะตกรอบนี้ ก็สนุกดีค่ะ

          อย่างไรก็ตาม ฝงอยากขอบคุณอาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ ว่องเจริญกุล ที่คอยให้การสนับสนุน ให้ความรู้ คอยติวให้อย่างเต็มที่ และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์จนสามารถชนะใจกรรมการในรอบที่ผ่าน ๆ มาได้

บ้านอยู่บนดอย อุปสรรคจึงไม่ได้มีเพียงปัจจัยภายใน (ใจ) แต่เป็นเรื่องปัจจัยภายนอก

          ด้วยความที่เป็นการแข่งออนไลน์ ทำให้ต้องเตรียมทั้งสถานที่ อุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อม และที่บ้านมีเด็กเยอะ ซนและเสียงดัง แต่แข่งตอน 1 ทุ่ม ทำให้ไม่สามารถออกไปใช้สถานที่ข้างนอกได้เพราะดึกไป ก็ต้องให้คนที่บ้านช่วยดูแลเด็ก ๆ ซึ่งให้ความร่วมมือกันดีมาก แต่ที่ห่วงที่สุดก็คือเรื่องอินเทอร์เน็ต เรื่องกระแสไฟ เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฝนตก แล้วแถวบ้านถ้าฝนตกไฟมักจะดับ ซึ่งเคยมีไฟดับไปช่วงหนึ่ง แต่ก็สามารถกลับมาแข่งตามปกติได้ อุปสรรคอย่างอื่นก็จะมีความตื่นเต้น กังวลว่าจะทำได้ดีไหม จะสามารถนำเอาสิ่งสวยงามของประเทศไทยไปโชว์ให้เขาเห็นได้ไหม เพราะเราเป็นตัวแทนประเทศแล้ว

ไม่ได้ที่ 1 อาจจะผิดหวัง แต่ไม่เสียดาย เพราะได้ทำดีที่สุดแล้ว

          ผิดหวังแน่นอนค่ะ แต่ก็ได้ข้อคิดจากการแข่งขันรอบนี้ว่า ความตื่นเต้นทำให้เราพลาดหลายอย่างได้ เพราะฉะนั้นต้องทำจิตใจของตัวเองให้สงบ เชื่อว่าประสบการณ์ครั้งนี้จะมาช่วยทำให้เรามีสติมากขึ้นในการทำงานในอนาคตได้ และก็รู้สึกว่า เมื่อตกรอบแล้วก็ต้องยอมรับความจริงให้ได้ แล้วเอาสิ่งบกพร่องมาปรับปรุงตัวเพื่อไว้ใช้สำหรับทำให้มันดีที่สุดในอนาคตข้างหน้า และในเมื่อเราทำดีที่สุดแล้ว ก็จงภูมิใจกับสิ่งที่เราทำ และยินดีกับผู้ที่เข้ารอบดีกว่าค่ะ

สิ่งที่ได้เรียนรู้มีค่ามากกว่ารางวัล

          อย่างแรกคือได้ความรู้ภาษาจีนมากขึ้น เพราะต้องเตรียมตัวเยอะ ทำให้ต้องศึกษาแล้วก็ไปหาความรู้ด้านภาษาจีนมาอีกเพียบ ส่วนด้านการพูดก็ได้เพิ่มประสิทธิภาพการพูดภาษาจีนของตัวเอง นอกจากนี้คือได้มิตรภาพ เพราะถึงแม้จะเป็นการแข่งออนไลน์ แต่ก็ได้เพื่อนใหม่ ๆ จากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มองโกเลีย หรือแม้แต่แอฟริกาใต้ ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์และการเรียนภาษาจีนให้แก่กัน มีปัญหาอะไรก็สามารถปรึกษาเขาได้ ส่วนเขามีปัญหาอะไรก็ปรึกษาเราได้เช่นกัน

          อีกอย่างที่สำคัญมากคือ ได้ความอบอุ่นจากครอบครัว เพราะการแข่งขันรอบนี้ครอบครัวคอยซัพพอร์ตหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเตรียมสถานที่หรือช่วยถ่าย Vlog ดังนั้นถึงจะตกรอบ ถึงจะเสียใจ แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง

“ชาติจีน ชาติไทย มิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” จึงมีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

          การเคารพผู้ใหญ่เป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่ไทยกับจีนคล้ายกัน เพราะผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่า หลายอย่างเราสามารถเรียนรู้จากพวกเขาได้ อย่างคนจีนมีสุภาษิตคำหนึ่งที่บอกว่า คนที่เกิดก่อนเราย่อมมีประสบการณ์มากกว่าเรา เพราะฉะนั้นเราควรที่จะเคารพและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากเขา แต่ในขณะเดียวกัน คนที่เกิดหลังเราก็อาจจะรู้มากกว่าเราก็ได้ นั่นหมายความว่า ทุกคนไม่ว่าวัยใดก็ตามควรเคารพซึ่งกันและกันนั่นเอง

คนไทยเชื้อสายจีนผู้จดจำรากเหง้า และกตัญญูต่อถิ่นฐานบ้านเกิด

          รู้สึกภูมิใจทั้งความเป็นจีนและความเป็นไทยในตัวเอง เพราะเวลาอยู่บ้านก็พูดทั้ง 2 ภาษา ไปกรุงเทพฯ อยู่กับเพื่อนก็จะพูดไทย ส่วนใหญ่ไปไหนก็จะพูดไทย ด้วยสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ที่เจอคือประเพณีไทย วัฒนธรรมไทย เลยรู้สึกว่าเราเป็นคนไทยและเราเองก็มีสัญชาติไทย

          ที่ผ่านมาอาจมีคนบุลลี่บ้าง เพราะเราอยู่บนดอย โอกาสที่จะได้เรียนต่อหรือทำอย่างอื่นก็อาจน้อยกว่าคนอื่น และเราอาจพูดไทยไม่ค่อยชัด แต่ด้วยความที่บ้านเรามีชนเผ่ามากมาย ส่วนใหญ่ก็จะพูดภาษาชนเผ่า ดังนั้นแม้เราจะพูดไม่ค่อยชัด แต่เราก็เข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลาย สามารถฟัง-พูดภาษาจีนและภาษาของชนเผ่าต่าง ๆ ได้ และถึงแม้จะขาดโอกาสไปเรียนรู้หรืออยู่ในเมือง แต่เราก็ได้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับศิลปวัฒนธรรม ทำให้เรายิ่งรู้สึกว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่สง่างาม ผู้คนมีน้ำใจ ซึ่งเราควรสานต่อสิ่งที่ดีงามและสิ่งที่สวยงามเหล่านี้ไว้

          การไปแข่งครั้งนี้ สิ่งที่ภูมิใจอีกอย่างคือการที่เราได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ได้นำความสวยงามของวัฒนธรรมไทย การไหว้ การยิ้มหวาน ๆ ของคนไทยไปสู่เวทีโลก ทำให้คนอื่นได้รับรู้ว่า ประเทศไทยเป็นเมืองที่มีรอยยิ้ม มีมารยาท และยังคงรักใคร่กัน จึงอยากให้ทุกคนสานต่อวัฒนธรรมอันดีงามนี้ไปเรื่อย ๆ ค่ะ

          ฝงปิดท้ายการสนทนาด้วยรอยยิ้มอันเป็นภาษาสากลที่ไม่จำกัดแค่ชาติใดชาติหนึ่ง หากรอยยิ้มนั้นยังสะท้อนถึงความภาคภูมิใจในฐานะคนไทยที่แม้อาจพูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด แต่จิตสำนึกภายในก็มีความเป็นไทยเต็มเปี่ยม เช่นเดียวกัน…ความเป็นจีนก็ยังคงไหลท่วมท้นอยู่ในกระแสเลือดจนสามารถนำความรู้เกี่ยวกับจีนไปคว้าชัยระดับโลกมาได้

          สมกับที่เธอเป็น “คนไทยเชื้อสายจีน” อย่างจริงแท้

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ ฝง-วศินี แซ่ล่อ นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติจีน (วนจ.) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สมัครเป็นสมาชิกของครอบครัวเครือข่ายศิษย์เก่า

เพื่อไม่พลาดทุกข่าวสาร กิจกรรม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวบียูที่เชื่อมต่อกันด้วยมิตรภาพ ความรู้ และโอกาสใหม่ ๆ
ในชีวิตและการทำงาน #JOYTIME เชื่อมจักรวาล BU

สมัครสมาชิก