BU Alumni
ลองทำ ลองเรียนรู้ นี่คือตัวตนและวิธีคิดของพี่เกี๊ยวซ่า-ชณัญญา รุ่นพี่วิศวะ ม.กรุงเทพ

Jun 05, 2024

ลองทำ ลองเรียนรู้ นี่คือตัวตนและวิธีคิดของพี่เกี๊ยวซ่า-ชณัญญา รุ่นพี่วิศวะ ม.กรุงเทพ

“อนาคตเราจะประสบความสำเร็จไหม แต่อย่างน้อยครั้งหนึ่งเราก็ได้ลองทำแล้ว ซึ่งดีกว่าการที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย” นี่คือคำพูดที่มีความหมายมากที่สุดของ เกี๊ยวซ่า-ชณัญญา สุทธิ

         ถ้าให้นึกถึงคณะวิศวะกรรรมศาสตร์ ในความคิดของคุณเป็นอย่างไร ผู้คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า มีแต่เด็กผู้ชายที่อยากเรียนคณะนี้ คงไม่ค่อยมีใครคิดว่าที่คณะแห่งนี้ จะมีเด็กผู้หญิงที่อยากเรียนคณะวิศวะ เธอเก่งทั้งทางด้านการพูด และเก่งทั้งทางด้านปัญญาประดิษฐ์ อยู่ในคนเดียวกัน

         ยามบ่าย ณ ห้อง Robotic Lab คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เราจึงอยากจะพาทุกคนมาเปิดเส้นทางของ เกี๊ยวซ่าชณัญญา สุทธิ นักศึกษาทุนสาขาวิศวกรรมประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาติดตามมุมมองความคิดของเธอในการเลือกเดินตามความฝันไปพร้อมกับเราครับ

ภาพความฝันที่เปลี่ยนแปลงไป

         วันนี้เราชอบแบบนี้ อีกวันนึงเราอาจจะชอบอีกแบบนึงก็ได้ ความฝันของคนเราไม่มีขอบเขต สามารถเปลี่ยนผันไปได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับมุมมอง ณ ตอนนั้นมากกว่าว่าเราชอบอะไร อยากทำอะไร

         ความฝันตอนเด็กกับตอนนี้ของเราแตกต่างกัน คนละโลกเลย เราไม่รู้นะว่าคนอื่นเป็นไหม เราเปลี่ยนอาชีพที่เราอยากเป็นทุกวัน ในตอนเด็ก เปลี่ยนทุกวัน เราอ่าน เราดูการ์ตูนเยอะ เราเลยเปลี่ยนอาชีพที่เราอยากเป็นทุกวัน อยากเป็นอันนู้นบ้าง อยากเป็นอันนี้บ้าง เคยมีครั้งนึงอยากเป็นแอร์มาก จนทำให้อยากเก่งทางด้านภาษาอังกฤษ แต่พอถึงวันถัดมาอยากเป็นหมออีก ซึ่งคิดว่าไม่ผิดเลย เพราะว่านั่นคือมุมมองของเราในวัยเด็ก เชื่อว่าเมื่อถึงวันนึงเราจะรู้ได้เองว่าเราอยากเป็นอะไร อยากทำแบบไหน และเราจะรู้ได้เองว่าสิ่งไหนเหมาะสมกับเรามากที่สุด

การเรียนวิศวกรรมศาสตร์ มองไปยังอนาคต

         ไม่อยากจะไปจำกัดว่าไปทางไหนได้บ้าง คือในปัจจุบันใช่ว่าเราเรียนสิ่งนี้ไปแล้ว แปลว่าเราต้องจบไปทำงานสายนี้เท่านั้น ก็มีหลายคนที่เขาก็ไม่ได้ทำงานตรงสาย เขาก็ประสบความสำเร็จได้ก็มี หรืออย่างบางคนเขาแค่เลือกเรียนคณะนี้ เพราะเป็นสิ่งที่เขาสนใจ เขามีแพชชั่นที่อยากจะเรียนรู้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าว่าการที่เราเรียนจบไปแล้ว เราจะได้ทำงานทางด้านนี้จริง ๆ

         อย่างเราจบไป เราอาจจะไม่ได้เป็นวิศวกรก็ได้ เราอาจจะไปเป็นนักข่าว อาจจะไปเป็นดารา อาจจะไปเป็นแม่ค้า อาจจะไปเป็นครู มันไม่ได้จำกัดว่าเราจะจบไปแล้วไปเป็นอะไร อยู่ที่ตัวเราว่าจะไปทำอะไร

         แต่ถ้าเรามีความรู้ทางด้านนี้ เราอยากจะไปต่อยอด ทำอะไรได้บ้าง เหมือนให้เราเอาตรงนี้ ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของเรามากกว่า ถ้าถามเราว่าวิศวะกับตัวเราคืออะไร วิศวะคือการจัดระเบียบความคิด ถ้าเปรียบตัวเองเป็นคอมพิวเตอร์ ก็จะมีระบบเรียงไว้ เป็นขั้นเป็นตอน มีลำดับ มีการจัดวาง และก็มีการจัดระเบียบความคิดว่าต้องทำอะไรก่อน ทำอะไรทีหลัง

         อย่างเช่นวิศวะมีหลายแขนง หลายอย่าง อย่างคณะของเรามันจะมี 4 สาขา มีคอมหุ่นยนต์ มี AI มี Multimedia และมีไฟฟ้า ถึงเราจะเลือกเรียน AI แต่เราก็รู้สึกว่าตัวเองก็มี Multimedia เหมือนกัน คือไม่จำกัดว่าเราจะต้องมีความเป็นวิศวะ แค่ในสาขาของเราเท่านั้น  

         สำหรับหน้าที่ที่เราทำ เราเป็นคนคิด Content  คิดสตอรี่ ของแต่ละอันที่ทำ มีทั้ง Projects ที่มีการทำซอฟแวร์ มีคอมหุ่นยนต์ทักษะ เราไม่ใช่คนที่เก่งร้อยเปอร์เซ็นต์ และเราก็ไม่ใช่คนที่มีสิ่งที่ถนัดหรือถ้าจะให้นึกถึงตัวเอง เรานึกถึงมนุษย์เป็ดอะ ที่ทำได้ทุกอย่าง คือเราทำได้ทุกอย่างเลย ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เราชอบทำก็ตาม ขอแค่บอกมา อยากให้ทำอะไร ทำได้ แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะทำมันหรือเปล่าเท่านั้นเอง

         เรารู้ว่าที่นี่ การเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตอบโจทย์ของสังคมที่เราตามหา มีทั้งวิชาการและกิจกรรมรวมอยู่ด้วยกัน อย่างชื่อหรือคีย์เวิร์ดมหาวิทยาลัยของเราคือ Creative university เพราะฉะนั้นไม่ได้ปิดกั้นทางความคิด

นักศึกษาทุนเพชรในชัยพฤษ์

         ทุนเพชรในชัยพฤกษ์ เป็นทุนของเด็กเรียนดีของแต่ละโรงเรียน ซึ่งทั้งโรงเรียนเขาจะเลือกแค่หนึ่งคน เป็นทุน 4 ปี ตลอดปีการศึกษา เราทำให้ดีที่สุด สุดท้ายแล้วก็จะทำให้เราสำเร็จจริง ๆ เราวางแผนยื่นทุนมาตั้งแต่ ม.4 เริ่มทำพอร์ต 3 ปี ตั้งแต่ ม.4 จนถึง ม.6 เพราะว่าพอร์ตเปลี่ยนไปตามกาลเวลา อาจจะมีกิจกรรมเข้ามาใหม่ ดีไซน์ก็อาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ ตามความคิดของเรา

         ความตั้งใจของเราเปลี่ยน มายเซ็ทของเราก็เปลี่ยน เป็นคนที่จะจริงจังมาก ๆ ในตอนนั้น คิดแล้วว่า เป็นคนที่ติดบ้านมาก ๆ ไม่อยากไปไหนไกล และที่นี่มันก็ตอบโจทย์ของเราทั้งหมดเลย ทั้งอยู่ใกล้บ้าน มี AI ให้เรียน มีทุน ก็เลยจัดการทำพอร์ต หาข้อมูล คิดว่ามันจะมีอะไรออกบ้าง ติวตัวเองหนักมาก ๆ เพื่อให้ติดทุนร้อยเปอร์เซ็นให้ได้ เวลา 3 ปี เราทุ่มให้กับตรงนี้มาก

เส้นทางแห่งพิธีกร

         เส้นทางนี้เกิดจากสาเหตุที่ตอนเรียนซัมเมอร์ เราได้เรียนกับอาจารย์โอม คนที่เขาดูแลที่นี่ ซึ่งทำให้เราได้คุยกับเขา ในตอนนั้น ก็เลยมาขอคำปรึกษาการทำงานไฟนอลโปรเจคในช่วงนั้น ทีนี้เขาก็เลยแนะนำที่นี่ ชวนให้มาทำกิจกรรมด้วยกัน เหมือนช่วงนั้นไม่มีพื้นฐานอะไร และก็ไม่รู้จะทำอะไรด้วย

         อาจารย์โอมก็เลยให้ลองมาทำงานด้านพิธีกรดู พอลองได้มาทำพิธีกรดูแล้ว จริงมันสนุกมากเลยนะ งานแรกเริ่มจากงานมินิโอเพนเฮ้าส์ มีน้อง ๆ เข้ามาชมที่คณะ ทำให้เราได้รู้ว่าวิศวะมีอะไรมากกว่าที่เราคิดว่า ไม่ได้เรียนหนักขนาดนั้น แล้วคณะนี้มันก็มีหลายอย่างให้เราได้ทำ ซึ่งตอนนี้ขึ้นแท่นแล้ว เป็นพิธีกรประจำที่นี่ มีคนเดียว ไม่มีคนอื่นเลย แล้วถ้าถามว่างานพิธีกรที่เราทำ เขาจะส่งบทพูดมาให้เราหรือว่าเป็นคนคิดเองเลย ขอตอบว่า คิดเองเลย ในส่วนของ  Agenda เราก็ทำ จะได้รู้ว่าแบบลำดับงาน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วก็จะคิดบทพูดเอง แบบว่าไกด์ตัวเองไปด้วย แต่ก็ไม่ได้ดูสคริปต์เต็มที่ทั้งหมดหรอก เราปล่อยไหลไปตามจังหวะ แค่เรามีไกด์ว่าพูดอะไร ควรพูดอะไร พูดอะไร งานเป็นพิธีกรมันก็ยากอยู่นะ เพราะว่าแต่ละงาน มันก็มีบริบทของงานที่แตกต่างกันไป บางงานอาจะต้องเป็นทางการหน่อย แต่บางงานอาจจะต้องให้คนเข้าถึงเราได้ง่าย

ความคิดที่ได้จากคนในครอบครัว

         ทุกอย่างสามารถดีขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง จริง ๆ แล้ว ความคิดนี้เกิดจากแม่ แม่เป็นคนที่ให้ความคิดนี้มา เพราะว่าเราเป็นคนที่ชอบกดดันตัวเอง ชอบคิดมาก ชอบรู้สึกว่าเราทำอย่างอื่นได้ไม่ดีหรอก รู้สึกว่ามีเรื่องเรียนที่เราสามารถทำได้ดี

         เราก็จะกดดันตัวเองมากว่ามันต้องอยู่ที่ 1 เท่านั้น มันต้องได้เท่านี้เท่านั้น จนถึงขั้นเคยมีครั้งหนึ่งที่ร้องไห้ จนแม่เข้ามาสะกิดว่าแบบอย่าไปร้องไห้ ทำไมต้องเสียใจขนาดนั้น ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต

         เราทำได้ดีเท่าไหน ก็เท่านั้น ใช่ว่าเราจะสมบูรณ์แบบไปได้หมดซะทุกอย่าง ทุกคนมีข้อผิดพลาดเป็นของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอยากเอาชนะ คือไม่จำเป็นต้องชนะก็ได้ แต่ควรทำออกมาดีที่สุด

         เหมือนเป็นคนที่ไม่อยากให้มีข้อผิดพลาดอะไรออกมา แต่พอมี หลายเรื่องที่ผ่านมา ก็มีผิดพลาดบ้าง แต่ว่าทำให้เราเสียใจ เราก็เลยเอาความเสียใจนั้นมาหาว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วเราก็เอามาปรับปรุงตรงนั้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต

         สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือครอบครัวและก็ตัวเอง รู้สึกว่า พอเราเป็นลูกคนเดียว เราอยากให้เขาภูมิใจ อยากให้เขาเห็นความสำเร็จของเรา อยากให้เขาสบายใจ ที่ทุกคนรู้คือพ่อแม่ไม่สามารถอยู่กับเราไปตลอดได้ อย่างน้อยช่วงเวลาที่เหลืออยู่เราก็อยากให้เขา happy ที่สุด

แนะนำรุ่นน้องที่อยากเป็นนักศึกทุนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         การเป็นนักศึกษาทุน ไม่ได้กำหนดว่าคุณจะต้องเป็นคนที่เรียนเก่ง อยู่ที่ว่า คุณมี Passion ไหม ถ้าคุณมี ที่นี่มีทุนเยอะมาก ที่ไม่ได้กำหนดว่าคุณต้องเรียนดีเท่านั้น ขอแค่คุณมี Passion และความพยายามที่จะไปถึงจุดที่คุณต้องการให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา หรือนักเรียนระดับกลาง ๆ “คุณต้องลองดู เพราะเราไม่รู้หรอกว่า อนาคตเราจะประสบความสำเร็จไหม แต่อย่างน้อยครั้งหนึ่งเราก็ได้ลองทำแล้ว ซึ่งดีกว่าการที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย”

สมัครเป็นสมาชิกของครอบครัวเครือข่ายศิษย์เก่า

เพื่อไม่พลาดทุกข่าวสาร กิจกรรม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวบียูที่เชื่อมต่อกันด้วยมิตรภาพ ความรู้ และโอกาสใหม่ ๆ
ในชีวิตและการทำงาน #JOYTIME เชื่อมจักรวาล BU

สมัครสมาชิก