BU Alumni
พี่แซ้ง-สันติ รุ่นพี่วารสารฯ ม.กรุงเทพ สืบเสาะ เจาะลึกความจริง คนข่าวยุคดิจิทัล

May 23, 2023

พี่แซ้ง-สันติ รุ่นพี่วารสารฯ ม.กรุงเทพ สืบเสาะ เจาะลึกความจริง คนข่าวยุคดิจิทัล

ทำข่าวเลือกตั้งเขาก็ลุยมาแล้ว! ชีวิตที่ทำงานข่าวได้ตลอดเวลา แม้แต่ตอนตีสอง เปิดมุมมองผู้สื่อข่าวการเมืองไฟแรง จากสำนักข่าว Top News ผู้เปิดโลกวงการข่าวมาตั้งแต่สมัยเรียน

         การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นไปอย่างดุเดือด นั่นรวมถึงการนับผลเลือกตั้งที่ถูกจับตามองโดยคนไทยทั่วประเทศ ความยินดีและยินร้ายถูกส่งผ่านในสื่อหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย, คลิปดีเบตระหว่างผู้สมัคร, หรือข่าวรายงานสดทุกความเคลื่อนไหวในการเลือกครั้ง แต่มีน้อยคนที่จะรู้ว่ามีรุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพคนหนึ่ง ที่ถือไมค์แบกกล้อง ฝ่าแดดร้อนระอุของกรุงเทพมหานคร และฝ่าฝูงสื่อมวลชนที่กำลังรุมล้อมบุคคลสำคัญ เพื่อเข้าไปทำข่าวการเลือกตั้งที่มีผู้ชมทางบ้านกำลังรอรับชมอย่างใจจดใจจ่อ

         รุ่นพี่ที่เรากล่าวถึงคือ พี่แซ้ง-สันติ แซ่ตั้ง รุ่นพี่สาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทั้งยังเคยเป็นเด็กกิจกรรมละครนิเทศรุ่น 32 ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวการเมืองในสถานีโทรทัศน์ Top News

         การติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นหนึ่งในกิจกรรมโปรดของแซ้งในทุกเมื่อเชื่อวัน เวลาไหนที่ว่าง ก็เป็นอันต้องหยิบมือถือขึ้นมาเลื่อนดูนิวส์ฟีดทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ข่าวจนกลายเป็นนิสัย และนิสัยนี้เองที่พาเขาเข้าสู่แวดวงผลิตข่าว ที่ถึงภายนอกจะดูไม่ยากเย็น แค่ยกทีมไปหาข่าว เขียน แล้วก็ออกอากาศ แต่ความจริงกลับโหดหิน ถึงขั้นที่บางวันต้องตื่นตีสองออกไปทำข่าวเลยทีเดียว

         ทำไมแซ้งเลือกจะเดินสายข่าวการเมือง หรือหากให้ถอยออกมาแล้วถามกว้างขึ้นอีก ทำไมแซ้งถึงเลือกจะเป็นนักข่าว เรามาติดตามเรื่องราวของเขากันเลย เริ่มกันที่การทำข่าวเลือกตั้ง 2566 เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่พลิกโฉมหน้าการเมืองไทยที่ผ่านมา

ประสบการณ์งานข่าวช่วงเลือกตั้ง 2566 ลุยไปในทุกพื้นที่

         ส่วนตัวได้รับมอบหมายให้ดูแล 3 พรรค ก็คือ พรรคไทยสร้างไทย เป็นคุณหญิงหน่อย-ก็คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส่วนพรรคที่สอง ก็คือ พรรคชาติพัฒนากล้า คุณกรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค แล้วก็มี คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นแคนดิเดตนายกอันดับที่หนึ่ง แล้วก็พรรคที่ 3 คือ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็คือ คุณวราวุธ ศิลปะอาชา เป็นหัวหน้าพรรคแล้วก็เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ในช่วงเลือกตั้งจะต้องไปดูแล พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แล้วก็มี คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค ก็ต้องไปดูแลตรงนั้นก่อนระยะเลือกตั้ง

         ช่วงของการลงพื้นที่หาเสียง บทบาทหน้าที่สำคัญก็คือลงพื้นที่ไปทำข่าว เฉพาะคนที่เป็นระดับแกนนำพรรค แกนนำพรรค-หมายถึงหัวหน้าพรรค หรือรองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ลงไปพื้นที่ตรงไหนบ้าง ช่วยใครหาเสียงบ้าง ก็จะเป็นการไปทำข่าว ณ ตรงนั้น แล้วก็จะได้สัมภาษณ์ในประเด็นต่าง ๆ ในแต่ละวันว่ามีประเด็นเรื่องนู้นเกิดขึ้นเรื่องนี้เกิดขึ้น เราสามารถเก็บข้อมูลความเห็นของคน ๆ นั้นได้ ส่วนการลงพื้นที่สำคัญ ก็จะได้ลงพื้นที่ตั้งแต่ไปต่างจังหวัด ไม่ว่าจะนั่งเครื่อง ลงเรือ หรือนั่งรถ แม้กระทั่งแบบลงคลองก็ต้องลงเหมือนกัน ต้องลุยทุกสถานการณ์ อันนี้คือบทบาทของผู้สื่อข่าว เราต้องลุยไปทุกสถานที่

ความชอบ ความประทับใจ ในสายอาชีพสื่อ

         จริง ๆ มันก็มีอยู่หลายอย่าง ก็อย่างแรกเลย ไปเดินตีคู่กับนายก แล้วก็ถามนายก ก็คือเดินตีคู่กันเลย “แอบเดินถามว่า ท่านครับวันลงพื้นที่วันนี้เป็นยังไงบ้างครับ” เขาบอกว่า “ก็โอเค ผลตอบรับดีนะ” อะไรอย่างนี้ อันนี้คืออย่างแรก คือเราได้เข้าถึงระดับนายกรัฐมนตรี ส่วนอย่างที่สองก็จะเป็นการทำงานปราศรัยของระดับหัวหน้าพรรค แล้วก็ได้มีโอกาสเข้าใกล้ได้พูดคุยอยู่หลายพรรค รวมถึงพรรคของ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ที่เป็นหัวหน้า พรรคของภูมิใจไทย ก็ได้รับมอบหมายให้ไป แล้วก็มี คุณชวน หลีกภัย ที่เป็นอดีตนายก แล้วก็อดีตหัวหน้า พรรคของประชาธิปัตย์ ก็ได้พูดคุย ได้สอบถาม ได้ทำข่าวลงพื้นที่ เพิ่มเติมอีกพรรคคือ คุณหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี หัวหน้าพรรคไทยภักดี

ย้อนกลับไปตอนเรียนที่วารสารฯ ม.กรุงเทพ

         ตั้งแต่สมัยเรียนเลย เราเริ่มจากการสำรวจตัวเองก่อนว่าเราถนัดด้านไหน พอเราถนัดด้านการพูด เรารู้แล้วว่า โอเค…เรามีอาชีพไหนบ้างที่เหมาะกับการพูด พอเรารู้แล้วว่ามันเป็นนักข่าวได้ ผู้ประกาศข่าวได้ บวกกับเราชอบดูข่าวตั้งแต่เด็ก แล้วเราก็ไปดูว่าเราต้องเรียนอะไร เรียนสายไหน เราถึงได้เป็นนักข่าว พอขึ้นมามหาลัย เราศึกษาก่อนเลยว่าวารสารศาสตร์อยู่ในคณะอะไร ก็ต้องไปดูตรงนั้นปุ๊บ โอเคพอรู้ว่าเป็นนิเทศ เราก็ไปเรียนเจาะวารสารฯ พอเราเรียนวารสาร ก็ได้เรียนรู้เรื่องราว การทำงานข่าว วิธีการหาข่าว การเข้าถึงแหล่งข่าว แล้วก็เรื่องของการเขียนข่าว รวมถึงการลงเสียง แล้วก็เรื่องของงานตัดต่อ รวมถึงการได้ติดต่อแหล่งข่าว หลายอย่างเป็นพื้นฐานการทำงานด้านสื่อ

         สิ่งสำคัญของก่อนที่จะได้เข้าทำงาน คือต้องฝึกงาน ได้ไปฝึกงานข่าวที่ สถานีโทรทัศน์วิทยุกองทับบก ช่อง 5 เอชดี ตรงนี้ก็พอฝึกงานตรงนี้เราก็ได้ประสบการณ์การทำงานจริง สถานที่ที่เราไม่ได้ไปเราก็จะได้ไป สถานที่ที่ไม่มีโอกาสคิดว่าเราจะได้เข้า เราก็ได้เข้า พอฝึกงานจบออกมาก็มาเรียนต่อ เราก็รู้แนวทางแล้วว่าเราควรจะไปสายไหน เพราะการฝึกงาน ทำให้เรารู้ว่าเราชอบ หรือไม่ชอบ งานที่เราจะไปทำจริงในอนาคต

         พอเรียนจบ เราก็รู้แล้วว่าควรที่จะไปยื่นช่องไหนก่อน ก็ลองไปยื่นดู แล้วก็รอ ปรากฏว่าเคยไปยื่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือเรียกว่า NBT แล้วหนึ่งรอบ แต่ NBT เป็นของภาครัฐ เรายังไม่มีใบจบก็เลยยังไม่ได้ แต่พูดเลยว่าตอนที่ไปสมัคร Top News มันเกิดจากความผิดคาดนะ ตอนแรกจะไปงานไบเทคบางนา ที่เขากำลังจัดงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์เครื่องนอน แต่ไปปักหมุดผิด ไปปักที่เมกะบางนาที่สมุทรปราการ ก็เลยเปิดแมพรู้ว่า อ๋อเรามาคนละทวีปกัน

         ตอนนั้นพอดีเห็นสถานีโทรทัศน์ Top News อยู่ใกล้ ๆ ก็เลยไปยื่นก่อน พอไปยื่นก็ใช้เวลาประมาณร่วมเดือน เขาก็ติดต่อกลับมา ตอนที่ไปขอสมัคร เราไม่มีเอกสารอะไรติดตัวไปเลย ไปตัวเปล่า ขอคอนแทค ขอไลน์ส่วนตัว แล้วพอถึงเวลาเราก็เอาเอกสารไปยื่น ก็ใช้เวลาประมาณเดือน ฝ่ายข่าวติดต่อกลับมา กว่าจะนัดสัมภาษณ์งานก็รวมไปอีก 2 อาทิตย์ เรียกได้ว่ารวม ๆ ถึง 2 เดือนเลยนะ กว่าจะได้สัมภาษณ์ แล้วช่วงสัมภาษณ์ จะเป็นเราเข้าตั้งแต่บ่าย 2 ออกสัมภาษณ์ตอน 5 โมง สัมภาษณ์ตั้งแต่การพูดคุยทัศนคติ ความรู้รอบตัว เราเข้าสายไหน เราก็ต้องรู้เรื่องสายนั้น อย่างเป็นนักข่าวการเมือง ก็ต้องดูว่าใครเป็นรัฐมนตรี และนักการเมืองคนไหน ใครมีหน้าที่อะไรบ้าง รัฐมนตรีช่วยคือใครบ้างเราก็ต้องรู้ตรงนี้

         เราที่ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน แล้วยังได้เคยทำข่าวตั้งแต่สมัยเรียน สัมภาษณ์งานไม่ยากเท่าไร เราก็เลยได้ทำงานตำแหน่งนี้ที่เราภูมิใจ ตำแหน่งที่เรียกว่าผู้สื่อข่าว

ผู้สื่อข่าว นักเล่าเรื่องสังคม

         เราต้องดูความหมายของคำว่า นักข่าว ก่อน คำว่านักข่าว เป็นภาพรวม คือองค์รวมตั้งแต่ช่างภาพ ทีมงานทุกคน รวมถึงผู้ประกาศ อันนี้คือเขาเรียกว่านักข่าว แต่มันจะมีแยกย่อยระหว่างผู้ประกาศกับผู้สื่อข่าว ผู้ประกาศก็คือนั่งอยู่หน้าฉาก ประกาศข่าวผ่านทีวี ผู้สื่อข่าวคือนักข่าวภาคสนามที่ลงไปเก็บวัตถุดิบเขียนข่าว เพื่อส่งข่าวให้บรรณาธิการ เพื่อจะส่งต่อให้ทางกับโปรดิวซ์ และไปจัดการออกทางสถานี ให้ผู้ประกาศข่าวรายงานสดต่อไป

         หน้าที่ของเราคือผู้สื่อข่าว วัน ๆ หนึ่งทำอะไรบ้าง ? อืม…อย่างช่วงการเลือกตั้งต้องตื่นแต่เช้า ตื่นไม่เป็นเวลา อย่างที่ผ่านมา ยกตัวอย่างก็ข่าวการจับเบอร์ของพรรคการเมือง เราก็ต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 เพื่อไปดักรอที่ กทม.2 ก็คือสนามกีฬาไทยญี่ปุ่น เพราะถ้าเราไปทำข่าว เราต้องไปรอแหล่งข่าวก่อนล่วงหน้า

         เรายังทำข่าวเพียงไม่กี่ข่าว แต่ได้เจาะลึก หมุดหมายการทำข่าวไม่แน่นอน บางข่าวก็ได้ทำตอนเช้า บางข่าวก็ได้ทำตอนบ่าย วันหนึ่ง 2-4 ข่าว ก็คือทำงานไม่เป็นเวลา หน้าที่หลักก็ไปเก็บวัตถุดิบ โดยที่ไม่ปรุงแต่งอะไรเพิ่มเติม แล้วนำมารวบรวม ทำเป็นข่าว ไม่ใช่ว่าจะเป็นข่าวอะไรก็ได้ ต้องเป็นประเด็น และต้องเป็นประเด็นเท่านั้น เราถึงจะเอามาทำข่าว ถึงจะออกอากาศได้

งานข่าว งานแห่งความภาคภูมิใจ

         ถ้าพูดถึงข่าวที่ภูมิใจ…ก็มีหลายข่าวนะ แต่ถ้าให้หยิบมาอันหนึ่งก็คงเป็นข่าวที่ได้สัมภาษณ์ สว.สมชาย แสวงการ เป็นการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวเลย เกี่ยวกับการที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องส่งเอกสารให้กับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกา เป็นข่าวที่มีกลุ่มใหญ่ ๆ เกี่ยวข้อง เซ้นซิทีฟต่อการเมืองไทยมากเลยนะข่าวนี้ แล้วเราได้รับมอบหมายให้ไปทำ ก็เลยเป็นข่าวหนึ่งที่เราภูมิใจมาก เราดีใจที่ได้รู้ข้อมูลตรง ๆ จากปากคนใหญ่คนโต และเป็นข้อมูลที่น้อยคนมากจริง ๆ ที่จะรู้

เต็มที่กับงานที่ทำ ทำอย่างเต็มความสามารถ

         เรียกว่ามั่นใจในความสามารถของเด็ก ม.กรุงเทพ ดีกว่า ที่ให้พื้นฐานเรามาครบเครื่อง อย่างเราเรียนมาเราได้รู้การเขียนข่าว ทำสารคดี การตัดต่อเบื้องต้น ทฤษฎีทุกอย่างทั้งสามเหลี่ยมหัวกลับหรือ 5W1H ก็ได้ใช้จริง ๆ ไม่ใช่แค่เรียนอย่างเดียว แถมชื่อเสียงของรุ่นพี่ ม.กรุงเทพในแวดวงข่าวก็เป็นที่รับรู้ว่าเก่ง เขามั่นใจในเรื่องคุณภาพงานที่ทำโดยเด็กม.กรุงเทพ การเรียนในมหา’ลัยไม่ใช่แค่เราเรียนผ่านอุปกรณ์อย่างเดียว เราได้ลงมือทำจริง ๆ ได้ออกพื้นที่ทำข่าวจริง ๆ ได้ติดต่อสัมภาษณ์เอง เขียนข่าวเอง แม้กระทั่งการที่เราต้องลุยเข้าไปทำข่าวก็ทำเอง ไม่มีอาจารย์ช่วย อาจารย์จะเป็นคนตรวจผลงาน แล้วบอกว่าตรงไหนดี ไม่ดี ตรงไหนแก้ได้ ตรงไหนทำให้ดีขึ้นได้

         อาจารย์สอนทุกอย่างตั้งแต่การเขียนหัวข่าวไปจนถึงเล่าข่าว และให้ลงมือทำข่าวจริงทุกรูปแบบเลยข่าวอ่าน, ข่าวลงเสียง, สกู๊ปข่าว, สารคดีข่าว แล้วข่าวที่เราคิดว่าดีมาก ๆ ได้ทำในสมัยเรียนแล้วภูมิใจมากคือ ข่าวรถเมล์สาย 29 ที่หยุดวิ่งผ่านม.กรุงเทพและธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเราได้ติดต่อเอง ประสานงานเอง สนุกมาก ๆ เลย เป็นข่าวหนึ่งที่เราคิดว่า ทำให้เราเขียนข่าว ผลิตข่าวเป็น จนถึงตอนนี้

ความฝันและอนาคตที่กำลังมุ่งไป

         อยากจะไต่เต้าไปให้ถึงระดับผู้ประกาศข่าว ตอนนี้กำลังฝึกรายงานสดอยู่นะ แต่ด้วยความที่เรายังเป็นเด็กใหม่ ก็ค่อย ๆ เก็บประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้เน้นว่าเราจะต้องเป็นให้ได้นะ ถ้าจะต้องเป็นผู้สื่อข่าวแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็โอเค ไม่ซีเรียส แล้วในปัจจุบันกำลังคิดหารายได้เสริม เพราะแน่นอน รายได้ทางเดียวมันไม่พออยู่แล้ว ตัวคนเดียวอย่างเรามันเหลือกินเหลือใช้ใช่ไหม แต่ถ้าเราต้องการมีครอบครัว นั่นหมายความว่าเราต้องหารายได้เพิ่ม ควรมีอาชีพสำรอง

คำแนะนำจากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง

         พื้นฐานเลยก็คือเก็บประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด ถ้าไปเป็นพิธีกรได้ ควรเป็น ถ้าไปเป็นนักเขียนบทความได้ ก็ควรเป็น ทักษะการพูดกับการเขียนจะทำให้เรามีพื้นฐานตอนเราได้ทำข่าวจริง ๆ  แล้วสำคัญเลย…ควรฝึกงาน! แล้วควรฝึกงานให้ตรงสาย อยากเป็นผู้ประกาศข่าวก็ฝึกผู้ประกาศข่าว อยากเป็นผู้สื่อข่าวก็ไปฝึกผู้สื่อข่าว นั่นเพราะว่าทักษะที่ได้มันต่างกันมากนะ สองตำแหน่งนี้ แล้วมันจะส่งผลตอนที่เราไปสมัครงานด้วย เขาจะดูเรซูเม่ของเรา ถ้าเราไปสมัครตำแหน่งที่เราไม่มีประสบการณ์ฝึก มันจะยากมาก ๆ เลยที่เขาจะรับเรา เพราะนั่นหมายความว่าเราอาจทำงานไม่เป็น

         ขณะเดียวกัน การที่เราไปฝึกงานเท่ากับว่าเราได้ลองของจริงมาแล้ว เราได้รู้ว่าอะไรใช่ไม่ใช่ แล้ว ส่วนคนที่ไม่มีประสบการณ์ฝึกงานมาก่อน แน่นอนว่าประสบการณ์ทำงานมันก็จะไม่มี แล้วถ้าหากไม่มีประสบการณ์การฝึกงาน โอกาสที่จะรับเข้าทำงาน มันยาก ยากแบบยากมาก ๆ เพราะว่าทีมข่าว-อย่างทีมข่าวการเมืองของสถานีโทรทัศน์ 1 ช่อง มันจะมีตั้งแต่ 2 ทีมขึ้นไปจนถึง 7 ทีม โดยปกติจะอยู่ที่ 3 ถึง 5 ทีม ยกเว้นช่องใหญ่ ๆ จะมีประมาณ 7 ทีม

         จะเห็นได้ว่าการแข่งขันเลยสูง ตรงที่ว่าในปีหนึ่ง เด็กจบวารสารออกมาก็เยอะ ความต้องการต่างกันไปในแต่ละปีด้วย บางปีก็มีนักข่าวเกษียณตัวเองเยอะ บางปีก็มีน้อย นั่นทำให้เราไม่รู้เลยว่าเราจะได้ไปทำงานแทนที่เขาไหม บางครั้งมันอยู่ที่โอกาสและวาสนา แต่ที่แน่ ๆ คือถ้าโอกาสนั้นมา แล้วเรามีทักษะ เราเก่งในงานสายข่าวแล้ว เราก็จะเข้าหาโอกาสนั้นได้

         แซ้งยังกล่าวปิดท้ายส่งต่อแรงบันดาลใจว่า อยากเห็นรุ่นน้องมาเป็นนักข่าวกันให้มาก ๆ เพราะวงการข่าวต้องการคนเก่ง งานข่าวคืองานที่นำเสนอความจริง และในยุคที่สื่อโซเชียลมีเดียกำลังเฟื่องฟู การค้นหาความจริง…ก็เป็นความถนัดของคนรุ่นใหม่เช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ แซ้ง-สันติ แซ่ตั้ง รุ่นพี่สาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ และผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Top News

สมัครเป็นสมาชิกของครอบครัวเครือข่ายศิษย์เก่า

เพื่อไม่พลาดทุกข่าวสาร กิจกรรม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวบียูที่เชื่อมต่อกันด้วยมิตรภาพ ความรู้ และโอกาสใหม่ ๆ
ในชีวิตและการทำงาน #JOYTIME เชื่อมจักรวาล BU

สมัครสมาชิก