BU Alumni
ประสบการณ์ในสนามข่าวกับ พี่จูน-ศุภิสรา จากนักศึกษาฝึกงานสู่ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ

May 23, 2023

ประสบการณ์ในสนามข่าวกับ พี่จูน-ศุภิสรา จากนักศึกษาฝึกงานสู่ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ

“แค่มีความตั้งใจ พัฒนา และกระตือรือร้น เดี๋ยวเขาจะเห็นเอง” พี่จูน-ศุภิสรา บัวทอง รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีความมุ่งมั่นในการฝึกงาน ทำให้ได้รับโอกาสจากไทยรัฐ ฝึกงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ มาติดตามเรื่องราวของพี่จูนที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในสายคนข่าวไปพร้อมกัน

การฝึกงานทำให้ได้เรียนรู้งานในสนามข่าวจริง

         พี่จูนเริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า การฝึกงานจำเป็นอย่างมาก ทำให้ได้ลองทำงานจริง จึงตัดสินใจยื่นใบสมัครฝึกงานกับไทยรัฐ ตอนที่เรียนอยู่ที่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และผลิตสื่อสตรีมมิง เรียนหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเน้นทำรายการ เช่น รายการบันเทิง ที่จะให้เราได้ฝึกคิดคอนเทนต์ ได้ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทำงานร่วมกับเพื่อน

         นอกจากนั้นยังมีเรียนการเขียน แต่ก็ตัดสินใจเรียนวิชาโทวารสารศาสตร์ เพราะการเขียนของวารสารศาสตร์ลงลึกมากกว่า จึงได้เรียนเกี่ยวกับการเขียนข่าวเพิ่มมาด้วย สามารถต่อยอดการฝึกงานได้ในด้านการเขียนข่าว ทั้งนี้แต่ละองค์กรก็จะมีสไตล์การเขียนข่าวไม่เหมือนกัน พอไปทำงานจริง เราก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมกับองค์กรนั้นด้วย

เตรียมตัวก่อนฝึกงาน

         อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนที่กำลังจะเริ่มฝึกงาน คงสงสัยว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง พี่จูนอธิบายขั้นตอนการขอฝึกงานว่า ได้นำเอกสารขอฝึกงานไปยื่นสมัครกับองค์กรหรือบริษัท เมื่อผ่านการคัดเลือก เราก็จะได้เข้าไปฝึกงานกับองค์กรที่เราสนใจ และจะมีการออกใบประเมินระหว่างการฝึกงาน เพื่อให้เรานำไปให้กับพี่เลี้ยงที่ดูแลประเมินขณะฝึกงาน ต้องจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เช่น ใบทรานส์สคริปต์ บางองค์กรไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ที่ไทยรัฐจำเป็น นี่คือขั้นตอนของการเตรียมตัวเรื่องเอกสาร ส่วนเรื่องเตรียมใจคือไม่มีเลย เพราะชอบในการทำข่าว อยากลงมือทำอยู่แล้ว เธอเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้ม

ประสบการณ์ที่ประทับใจไม่รู้ลืมระหว่างฝึกงาน

         ผลงานที่ภูมิใจมากที่สุดคงเป็นข่าวเกี่ยวกับ ดอกดาวเรืองในวันเลือกตั้ง ที่ได้ออนแอร์ทางโทรทัศน์จริงๆ และมีย้อนหลังใน YouTube ชื่อว่า เลือกตั้งหนุนดาวเรืองราคาพุ่ง เกษตรกรยิ้มรับทรัพย์ | 12-03-66 | ไทยรัฐทันข่าว โดยบรรณาธิการเป็นคนมอบหมายให้ทำ

         พี่จูนแบ่งปันความภาคภูมิใจในงานชิ้นนี้ว่า พอได้โจทย์นี้ก็เลยเลือกที่จะทำทันที เพราะเราจะได้ประสบการณ์และผลงานที่ติดตัวเราไปตลอด โจทย์มีอยู่ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์ในช่วงนั้น จึงเลือกทำข่าวเกี่ยวกับดอกดาวเรืองที่มีราคาขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเราฝึกงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ หลังจากนั้นเริ่มหาข้อมูลว่าเศรษฐกิจช่วงเลือกตั้งเป็นอย่างไร และได้ข้อมูลมาว่า ดอกดาวเรืองจะขึ้นราคาช่วงเลือกตั้ง เพราะนำมาทำเป็นพวงมาลัยห้อยคอหาเสียง จึงติดต่อเจ้าของสวนดอกดาวเรือง ลงพื้นที่ ทำข่าว ระหว่างทำงานนี้ก็ได้ปรึกษากับบรรณธิการตลอด หลังจากออนแอร์ก็ประทับใจมาก

ฝึกฝนงานสายข่าว ได้ลองทำหลายอย่าง

         พี่จูนบอกว่า การทำงานจริง โชคดีมากที่บรรณาธิการชอบให้ลองทำอะไรหลายอย่าง ขณะฝึกงานจะไม่ได้ลงพื้นที่ภาคสนามเพียงอย่างเดียว บรรณาธิการให้ลองเขียนข่าวและได้ลงพื้นที่ทำจริงด้วย ต้องฝึกฝนตนเองตลอดให้รุ่นพี่เห็นความสามารถ เขาจะเรียกเรา ต้องการเรา เทคนิคการเข้าหาคนอยู่ที่ทักษะที่เรามี แต่ที่สำคัญคือ เราต้องแสดงความพยายาม ความตั้งใจ ความกระตือรือร้นออกมา เขาจะมองเห็นเอง และให้โอกาสเราทำอะไรที่หลากหลายมากขึ้น

ปัญหาหรืออุปสรรคที่พบเจอระหว่างฝึกงาน

         ฝึกงานที่บริษัทไม่พบเจอปัญหา แต่ขณะออกภาคสนาม บางทีไม่เข้าใจสิ่งที่แหล่งข่าวพูด ซึ่งเราฝึกตำแหน่งผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จะได้แวะเวียนไปที่กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม ธนาคาร บ่อย ๆ ปัญหาหลักคือเรื่องดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เงินฝืด คำศัพท์ที่ยาก ๆ เราจะไม่เข้าใจ ช่วงแรกของการฝึกงานไม่เข้าใจอะไรเลย จนพี่ผู้สื่อข่าวคนอื่น ถามว่าเราเข้าใจไหม “ไม่ค่ะ หนูไม่เข้าใจเลยค่ะ” เราตอบด้วยความจริงใจ และได้โอกาสการถามกลับ “เงินฝืด เงินเฟ้อคืออะไรเหรอคะ” พี่ผู้สื่อข่าวอธิบายให้ฟัง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากในการทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจด้านการเงิน แต่เราไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเงินฝืด เงินเฟ้อ จึงต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองให้มากขึ้น

เดินหน้าฝึกฝนตนเอง ไม่รู้ก็ต้องลองเรียนรู้

         พี่จูนเล่าต่อว่า การทำการบ้าน สำคัญมาก ๆ เช่น พรุ่งนี้ได้รับคำสั่งให้ออกพื้นที่ภาคสนาม ในหัวข้อเรื่องนี้ สิ่งที่จะทำคือการศึกษาล่วงหน้าก่อนลงพื้นที่ภาคสนาม

         ต้องเริ่มทำการบ้านค้นหาข้อมูลเก่าแล้วว่า เมื่อปีที่แล้วหรือครั้งล่าสุด เขาพูดถึงเนื้อหาอะไรไปบ้าง เช่น กระทรวงการคลังขึ้นเงินเฟ้อไปเท่าไร ขึ้นอย่างไร คำศัพท์คำนี้หมายความว่าอะไร เผื่อหน้างานทางแหล่งข่าวอาจพูดขึ้นมา ทำให้เราเข้าใจความหมายมากยิ่งขึ้น และเทคนิคการแก้ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างคือ ศึกษาทำการบ้านว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ข่าวเศรษฐกิจจะมีความต่อเนื่องกัน เช่น กระทรวงการคลังพูดถึงสาเหตุเงินเฟ้อไปครั้งที่แล้ว เพราะแบบนี้ จึงต้องปรับขึ้นอีก ทำให้เรามีความเข้าใจในสิ่งที่แหล่งข่าวพูดมากขึ้น

         แต่ถ้ายังไม่เข้าใจอีก ทำการบ้านเพิ่ม อีกหนึ่งทางแก้ปัญหาคือ หลังจากทำข่าวเสร็จต้องมาศึกษาเพิ่มว่า ทำไมแหล่งข่าวพูดถึงประเด็นนี้ จะต้องทำการบ้านเยอะมากทั้งไปทั้งกลับ ถ้าศึกษามาดีแต่แรกจะทำให้การทำงานราบรื่นมากขึ้น และการถามพี่ผู้สื่อข่าวคนอื่นก็ช่วยได้ เพราะเขามีประสบการณ์มากกว่า

ผลงานที่โดดเด่นระหว่างฝึกงาน

         อย่างที่เล่าไปเกี่ยวกับข่าวเกี่ยวกับ ดอกดาวเรืองในวันหาเสียงเลือกตั้ง มีคลิปย้อนหลังบน YouTube ได้ออกอากาศนานกว่า 3 นาที ซึ่งทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่ลงพื้นที่ภาคสนาม สัมภาษณ์ และเป็นการเขียน Scoop ที่หนักหน่วงมาก และยังมีงานข่าวโฆษณาของแลคตาซอย ที่จะมีวง Paper Planes เป็นพรีเซนเตอร์ตัวใหม่ มาร่วมแต่งเพลงให้กับแลคตาซอยที่ขึ้นจาก 5 บาท เป็น 6 บาท ไม่มีคลิปวิดีโอให้ดูเพราะเป็นข่าวสั้นที่ออกสื่อโทรทัศน์เนื้อหาเพียง 30-50 วินาที สองผลงานนี้คือสิ่งที่พี่จูนภาคภูมิใจ ได้ประสบการณ์จากการได้ลงมือทำจริง

อนาคตที่ตั้งใจไว้

         อนาคตก็ยังตัดสินใจจะทำงานผู้สื่อข่าวด้านเศรษฐกิจ เพราะชอบและฝึกด้านนี้มาแล้ว ในแต่ละวันทำให้รู้สึกสนุก ไม่จำเจ เช่น วันนี้เจอเรื่องแบบนี้ พรุ่งนี้อาจจะเรื่องใหม่ วันถัดไปอาจจะเจอเรื่องเดิม ซึ่งมีความเป็นไปได้หมด และการทำงานผู้สื่อข่าวด้านเศรษฐกิจมีความตื่นเต้นทุกวัน บางวันกลับมาแบบไม่รู้อะไรเลย แต่บางวันกลับภูมิใจในตนเองที่ข่าวนี้ก็ทำได้ อีกข้อสำคัญคือการเจอผู้คนใหม่ ๆ เจออะไรใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสีสันของชีวิตที่มีความสุขมาก

กำลังใจให้คนรุ่นใหม่ที่รักงานสื่อ

         พี่จูนทิ้งท้ายว่า ทุกองค์กรต้องการคนที่พยายาม คนที่กระตือรือร้น ต้องการคนที่ตั้งใจ ไม่ใช่คนเก่งก็ได้ ต้องพัฒนา ทำการบ้าน มีความพยายาม ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ทุกคนก็พร้อมที่จะมองเห็นคุณค่าของตัวเราเอง

         ความพยายาม ความขยัน และความตั้งใจก็ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญในการทำงานอยู่เสมอ เพราะการทำงานคือการเรียนรู้ เราเชื่อว่าถ้าได้ลองทำงานจริง ได้ประสบการณ์ แถมด้วยความสนุกอีกมากมายอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่จูนศุภิสรา บัวทอง รุ่นพี่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และผลิตสื่อสตรีมมิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สมัครเป็นสมาชิกของครอบครัวเครือข่ายศิษย์เก่า

เพื่อไม่พลาดทุกข่าวสาร กิจกรรม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวบียูที่เชื่อมต่อกันด้วยมิตรภาพ ความรู้ และโอกาสใหม่ ๆ
ในชีวิตและการทำงาน #JOYTIME เชื่อมจักรวาล BU

สมัครสมาชิก