อาชีพนักข่าวยังคงเป็นอาชีพในฝันของวัยรุ่นไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย เราขอพามาทำความรู้จักกับสาวน้อยหนึ่งในผู้ที่ได้ร่วมงานกับโครงการค่าย Future Journalism Award ทุน New Journalism โดย True Vision เธอคนนี้คือ พี่เจินลี่-ธนาภรณ์ ดาววิจิตร รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เรานัดพบกับพี่เจินลี่ในช่วงสายของวัน เราเริ่มต้นบทสนทนาที่เรื่องความฝันของเธอที่จะเป็นนักข่าว
“พี่อยากเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อม จึงเลือกศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ความคิดของพี่ คือ พี่อยากเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อม และการที่เราจะเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อม เราจะต้องสามารถทำให้คนเข้าถึงได้ว่า ปัญหาของสิ่งแวดล้อม คืออะไร และปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น พวกเรารู้ แต่พวกเราไม่คิดจะแก้ไข”
ความชัดเจนในความฝันของตนเอง ทำให้รู้ว่า จะพาตัวเองไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร ความมุ่งมั่นทำให้ต้องขยันเรียนรู้ เก็บสะสมประสบการณ์จากการทำกิจกรรม และโครงการ ทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย
ความหมายของนักข่าวที่ดี “สำหรับพี่ ตามหลักการแล้ว มีแค่ 3 ข้อ อย่างแรก ต้องมีจรรยาบรรณของนักข่าว การทำข่าวใด ๆ เราไม่สามารถคิดขึ้นมาเองได้ ความจริงเป็นอย่างไร เราควรนำเสนอแบบนั้น เนื้อหาข่าวต้องมีความถูกต้อง และแม่นยำ อีกอย่างหนึ่งคือกาลเทศะ เพราะเวลาเราไปทำข่าว เราต้องดูความเหมาะสมของสถานการณ์ด้วย”
โครงการ Future Journalism Award เปิดประสบการณ์การเป็นนักข่าวระดับโลก
เราชวนคุยต่อถึงโครงการ Future Journalism Award ที่น่าสนใจมาก สำหรับคนที่มีความใฝ่ฝันจะเป็นนักข่าว
“โครงการค่าย Future Journalism Award เป็นทุนที่มีชื่อว่า New Journalism โดย True Vision เป็นผู้จัด จะมีการแข่งขันกันทั่วประเทศ แล้วแต่ละมหาวิทยาลัยจะส่งงานไป โครงการนี้ ต้องทำการสอบแข่งขัน เช่น การทดสอบการเขียนข่าว คัดเลือกเป็นรอบไป ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะได้ไปฝึกงานที่ BBC London อีกด้วย การเข้าโครงการนี้ทำให้ต้องพัฒนาตัวเองและเรียนรู้มากขึ้น”
การเตรียมตัวเข้าร่วมโครงการ Future Journalism Award
สิ่งสำคัญสำหรับการจะเป็นนักข่าวคือ “ต้องอ่านข่าว และติดตามข่าว และหาความรู้รอบตัวให้มากที่สุด ทั้งข่าวกีฬา ข่าวการเมือง และข่าว ต่างประเทศ เพราะเราไม่รู้ว่าข้อสอบจะออกมาในแนวไหน”
รวมถึงการมีจรรยาบรรณนักข่าว “สำหรับพี่ คือ ข่าวจะต้องเป็นความจริง ไม่มีการใส่อารมณ์ ใส่อคติของเราเข้าไป เช่น การให้ร้ายคนอื่น เพราะเราเป็นนักข่าว สิ่งแรกที่เราจะเสนอ คือ เสนอความจริง เสนอสิ่งที่เห็นให้กับมวลชนได้รับรู้”
“เราไม่ละเมิดสิทธิของใครค่ะ เช่น ถ้าข่าวเกี่ยวกับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ต้องให้เกียรติกับผู้ตาย หรือญาติของผู้ตาย หรือเวลาที่เราจะสัมภาษณ์ใคร เราควรรอให้ผู้ให้สัมภาษณ์พร้อม ไม่ใช่เราไปจี้ถาม ทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์เกิดความกดดัน แล้วทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์รู้สึกแย่”
นอกจากการเรียนพี่เจินลี่ยังเข้าร่วมค่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่ายสิ่งแวดล้อม “เกี่ยวกับค่ายสิ่งแวดล้อมที่เคยไปเกี่ยวกับค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดอยสุเทพ จะเป็นเหมือนการดูป่า ต้นน้ำ ลำธาร เป็นโครงการของรัชกาลที่ 9 เป็นอ่างเก็บน้ำ แล้วก็จะไปปลูกต้นไม้ เก็บขยะตามทะเลที่เวลาเราไปค่ายหรือไปเที่ยว เราจะเห็นได้ว่า ทะเล มีขยะเยอะมากขึ้น โครงการนี้ก็เหมือนเราได้ไปเที่ยวด้วย ได้ไปพักผ่อนด้วย แล้วก็ได้ช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย การเก็บขยะที่อยู่ตามท้องทะเล ให้ได้อย่างน้อยคนละ 2 กิโลกรัม”
นี่คือวิธีการของการสั่งสมประสบการณ์ระหว่างเรียนและการทำกิจกรรมควบคู่ไปด้วย ทำให้ตอนนี้ “พี่เจินลี่” พร้อมแล้วที่จะเดินในเส้นทางสายนักข่าวสิ่งแวดล้อม
พี่เจินลี่ทิ้งท้ายว่าถึงทิศทางของสื่อในอนาคต ตามแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ว่า “ตอนนี้สื่อของเรามักอยู่ในช่องทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ เนื้อหาข่าวต้องสั้น กระชับ และได้ใจความ ยิ่งไปกว่านั้นอย่าลืมว่าต้องมีจริยธรรมในการนำเสนอข่าวอีกด้วย”
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่เจินลี่-ธนาภรณ์ ดาววิจิตร รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ