BU Alumni
กีฬาสร้างสุข เติมรอยยิ้ม คุยกับพี่แครอท-พรพิชชา นักกีฬาแบดมินตันดาวรุ่ง

May 08, 2023

กีฬาสร้างสุข เติมรอยยิ้ม คุยกับพี่แครอท-พรพิชชา นักกีฬาแบดมินตันดาวรุ่ง

เส้นทางนักกีฬาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน และพยายาม การเล่นกีฬาเปลี่ยนชีวิตได้ มารู้จักกับหนึ่งในนักกีฬาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเล่นแบดมินตันเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง

         พี่แครอทพรพิชชา เชยกีวงศ์ รุ่นพี่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นักกีฬาแบดมินตันที่มีผลงานโดดเด่นมากมาย เธอเป็นนักกีฬาแบดมินตันหญิงดีเด่นประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเป็นนักกีฬาตัวแทนทีมชาติไทยในชุดทีม B อีกด้วย

         เธอมีผลงานระดับชาติและนานาชาติมากมาย เก็บสะสมประสบการณ์การแข่งขันกีฬาแบดมินตันและกำลังจะเติบโตต่อไปในอนาคต เราคว้าตัวเธอมานั่งพูดคุยกัน มาติดตามเรื่องราวของรุ่นพี่ดาวรุ่งคนนี้กันเลย

ย้อนวันวานกับเส้นทางสายกีฬา

         วัยเด็กของแครอทก็เหมือนเด็กส่วนใหญ่ทั่วไป แต่ที่มันไม่เหมือนเด็กทั่วไปก็คือ เราเป็นเด็กที่ค่อนข้างป่วยบ่อย ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ป่วยแล้ว ซึ่งตอนนั้นมันน่าเบื่อมากเลย

         เราเริ่มเล่นแบดมินตันตอนอายุ 5 ขวบนะคะ คือเริ่มจากที่คุณพ่อเห็นเราป่วย ก็เลยไปหากีฬามาให้เราลองเล่น ซึ่งก็มาติดใจเจ้ากีฬาแบดมินตัน จากนั้นเราก็ตีก็เล่นทุกวัน จนอาการป่วยของเราดีขึ้น และหลังจากนั้นเราก็เล่นกีฬาแบดมินตันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้เลย

ก้าวสู่ความภาคภูมิใจตัวแทนทีมชาติไทย

         เราคงเหมือนนักกีฬาหลายคนที่ เมื่อเราหาทางเจอแล้ว เราก็อยากพยามยามและทำให้มันสุดความสามารถของเรา เมื่อเรามาเริ่มเล่นแบดแล้ว และเราก็อยากเริ่มจริงจังมาก ๆ เหมือนกัน

         เริ่มแรกเราได้เข้าไปอยู่ในสโมสรก่อน แล้วเราก็เริ่มฝึกซ้อม มีรายการไหนที่เราสามารถแข่งขันได้ เราก็แข่งเพื่อเก็บคะแนนและอันดับ ก็เหมือนการทำเควส ยิ่งเราแรงค์ (หรืออันดับ) สูง ๆ เราก็สามารถเข้าไปแข่งขันรายการใหญ่ได้

         เป้าหมายสูงสุดของเราตอนนี้ก็คือตัวแทนทีมชาติชุด A การเป็นตัวแทนชุด A คือคนที่สามารถแข่งได้ทุกรายการเหมือนคนที่แบบเก็บแรงค์ได้ดีเยี่ยม แข่งกี่รอบก็ได้ติดอันดับ 1 ส่วนชุด B จะลงแข่งได้ก็ต่อเมื่อ ชุด A ไม่ว่างที่จะลงแข่งหรือติดการแข่งขันรายการอื่นอยู่ หรือเรียกง่ายก็คือ ตัวหลัก ตัวสำรองนั่นเอง

การแข่งขัน Sweden International Series 2022

         การแข่งขันรายการนี้ถือได้ว่าเป็นการแข่งขันแรกหลังจากการระบาดของโควิด-19 เลยก็ว่าได้ เอาจริง ๆ ก็ตื่นเต้นมาก เพราะว่าได้กลับไปลงสนามอีกครั้ง กลับไปซ้อม ก็เป็นอะไรที่ท้าทายเหมือนกัน

         การแข่งขันนี้ได้ลิสรายการมาแล้วเป็นปีๆแล้ว เราต้องไต่ Ranking ต้องมีความพร้อมทุกด้าน สุขภาพ การฝึกซ้อม ซึ่งค่อนข้างกดดันพอสมควร เพราะถ้าไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก็ไม่สามารถแข่งได้ รายการนี้เราได้รองแชมป์อันดับ 1 มาซึ่งถามว่าเสียใจมั้ยที่ไม่ได้อันดับ 1 ก็เสียใจอยู่แล้ว แต่ได้รองมาก็ถือว่าเราทำเต็มที่แล้วเหมือนกัน เพราะว่าด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แค่นี้มันก็ดีที่สุดแล้ว สู้ต่อไป อย่าหยุดพยายามเด็ดขาด

ทีมนักกีฬาของทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

         อาจารย์จะเป็นคนคัด ก่อนเข้าไป ต้องยื่นผลงานก่อนว่าเราทำอะไรมาบ้าง ถนัดอะไร สกิลเราอยู่ถึงขั้นไหนก็ถือได้ว่าเป็นตัววัด ทีมอาจารย์จะตัดสินใจ เพื่อไปเป็นตัวแทนให้กับทางมหาวิทยาลัย ผ่านการคัดเลือกก็ได้ไปแข่งขันกับทางมหาวิทยาลัยอื่น

วินัย การฝึกซ้อม ความกดดัน สู่ความสำเร็จ

         การฝึกซ้อมของเรา ก็คือเราจะซ้อมวันละประมาณ 7 ชั่วโมง มันค่อนข้างหนักมาก ๆ และจะมีวันหยุดที่ไม่ต้องทำอะไรเลยก็คือหนึ่งวันต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งวันพักเราก็จะพักจริง ๆ นอนให้เต็มที่ ทำในสิ่งที่ชอบดูหนัง ฟังเพลงไป

         พยายามจัดการเวลาให้ดีที่สุด ตอนซ้อมก็คือเราจะไม่คิดวอกแวกไปไหนเลย ก็จะจดจ่ออยู่กับการซ้อมให้ได้มากที่สุด เพราะว่ายิ่งเราให้ความสำคัญ ณ ตอนนั้น เราจะเหนื่อยน้อยลงในวันต่อไป

         ช่วงที่อยากเลิกเล่นก็มีนะ ช่วงที่คัดตัวทีมชาติ เพราะมันค่อนข้างกดดัน เป็นเป้าหมายที่สำคัญสำหรับเรามาก บางทีคัดมาแล้วเราแพ้มา มันก็ค่อนข้างผิดหวังและเฟลนิดนึง

บริหารเวลาการเรียนและเล่นกีฬา

         ต้องบอกก่อนว่าถ้าไม่ติดเรื่องที่เรารักในการเล่นแบดมินตัน เราก็มีอีกความฝันหนึ่งเลยก็คือ เราอยากเป็นอัยการ แต่สิ่งที่เรารักกับความฝันของเรามันค่อนข้างหนักทั้งคู่ เราเลยเลือกแบดมินตัน

         คณะที่เราเลือกเรียน คือคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ จริง ๆ อาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสายกีฬาแบดมินตันของเราเลย แต่ว่าเราได้รับคำแนะนำมาจากรุ่นพี่ที่สโมสรมาว่า มาเรียนคณะนี้สิมันไม่ค่อยหนักมาก สามารถแบ่งเวลาไปฝึกซ้อมได้และเรายังสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้

         การเรียนในห้อง เราโชคดีตรงที่เราเจอเพื่อนที่ดีมาก ๆ บางทีเราไม่ได้ไปเรียน ต้องไปซ้อม เราก็จะคอยมาตามงานกับเพื่อน ซึ่งเพื่อนไม่เคยรำคาญเราเลย เพื่อนจะคอยช่วย คอยตามงานในห้องให้ คอยบอกว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งเรารู้สึกเราโชคดีมาก ๆ

         การลงเรียนเราจะดูว่าเรื่องตารางเรียนและตารางซ้อม พยายามดูจากตารางซ้อมก่อน แล้วเอาไปดูเทียบกับตารางเรียนดู ที่นี่ค่อนข้างยืดหยุ่นเรื่องตารางเรียน จึงสามารถจัดการเวลาได้ดี มีการส่งรายการแข่งขันให้กับอาจารย์ก่อนเรียน บอกอาจารย์ว่าหนูมีภารกิจแบบนี้อาจารย์ก็จะเข้าใจและช่วยเรื่องการเรียน

เสน่ห์ของกีฬาแบดมินตัน

         แบดมินตันเป็นกีฬาประเภทบุคคล ตอนลงไปสนามแล้ว เราต้องเป็นคนทำเองทุกอย่าง เสน่ห์ก็คือ มันขึ้นอยู่กับตัวเองว่า ในแต่ละการลงไปแข่งในสนาม คือจะสามารถเฉิดฉายได้มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวคุณเอง เล่นดีไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับตัวเองหมดเลย ไม่ว่าจะการแก้เกมส์ในการเล่น การออกลูก คนดูจะดูออกว่าเราเป็นยังไง

อนาคตกับกีฬาแบดมินตัน

         เราคิดว่าเราก็จะเล่นจนกว่าจะไม่ไหว ตอนนี้กำลังเป็นช่วงที่สำคัญมาก ๆ เพราะในช่วงอายุเราตอนนี้ 20-25 ปี ค่อนข้างเป็นช่วงที่พีคที่สุด เพราะถ้าหลังจากนี้อาจจะเจ็บตัวได้ หรือว่าสมรรถภาพร่างกายก็เสื่อมไปตามกาลเวลา ตอนนี้มีแรงก็ทำไปก่อน

อยากชวนทุกคนมาเล่นกีฬา

         สำหรับคนที่พึ่งเริ่ม กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาที่คนเริ่มนิยมขึ้นมากแล้ว เพราะเป็นกีฬาที่สนุก และช่วยเรื่องสุขภาพได้ดีมาก ๆ แต่ถ้าใครอยากจะเริ่มจริงจัง ก็ฝึกฝนและมุ่งมั่นต่อไป

         อยากจะบอกกับทุกคนว่า ขอให้พยายามไปในเส้นทางที่ตัวเองทำ ตั้งใจให้ได้มากที่สุด พอถึงปลายทางแล้วมันสำเร็จ จะเป็นวันที่เราจะมีความสุขที่สุดในโลกเลย

         หวังว่าเรื่องราวของพี่แครอท จะทำให้ทุกคนหันมาเล่นกีฬา ออกกำลังกาย อย่างน้อยก็เพื่อสุขภาพของเราเอง เพราะการเล่นกีฬาสามารถสร้างความสุขได้

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่แครอท-พรพิชชา เชยกีวงศ์ รุ่นพี่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นักกีฬาแบดมินตันหญิงดีเด่นประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเป็นนักกีฬาตัวแทนทีมชาติไทย

สมัครเป็นสมาชิกของครอบครัวเครือข่ายศิษย์เก่า

เพื่อไม่พลาดทุกข่าวสาร กิจกรรม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวบียูที่เชื่อมต่อกันด้วยมิตรภาพ ความรู้ และโอกาสใหม่ ๆ
ในชีวิตและการทำงาน #JOYTIME เชื่อมจักรวาล BU

สมัครสมาชิก